เมื่อเริ่มถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ๆ โลกเราในยุคแรก หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงกว่านี้มากจนเวลา 1 วันมีไม่ถึง 5 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นก็ค่อยๆหมุนช้าลงจากการที่ดวงจันทร์ค่อยๆถอยห่างออกไป [รายละเอียดตามบทความนี้]
ทุกวันนี้ปรากฏการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป โลกยังคงหมุนช้าลงในอัตรา 1.8 มิลลิวินาทีต่อร้อยปี แต่เชื่อไหมว่าผลดีอันยิ่งใหญ่จากการหมุนช้าลงของโลกเราก็คือต้นกำเนิดของกลไกการผลิตออกซิเจนครั้งใหญ่สู่ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้
นักวิทยาศาสตร์เคยสงสัยมานาน ว่าเหตุผลอะไรกันแน่คือที่มาของเหตุการณ์ Great Oxidation Event หรือ GOE เมื่อราว 2,300 ล้านปีก่อน ที่อยู่ดีๆก็มีออกซิเจนปริมาณมากมายปรากฏขึ้นมาในบรรยากาศโลก ล่าสุดทีมนักวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษาจุลชีววิทยาทางทะเลของเยอรมนี (MPIMM) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน วิทยาเขตแอนอาร์เบอร์ของสหรัฐฯ ก็มีคำตอบของเรื่องนี้ให้เรารู้
หนึ่งในสิ่งมีชีวิตยุคแรกในมหาสมุทรที่มีความสำคัญต่อโลกใบนี้ที่สุดคือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินหรือไซยาโนแบคทีเรียในมหาสมุทร พวกมันคือนักผลิตออกซิเจนตัวจริงจากการสังเคราะห์แสงอาทิตย์ แต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ ต้องอาศัยเวลาในช่วงกลางวันที่ยาวนานเพียงพอ จึงจะสามารถผลิตออกซิเจนในปริมาณมากได้ และมันยังต้องเอาชนะคู่แข่งสำคัญ นั่นคือจุลินทรีย์สีขาวที่ย่อยสลายกำมะถันในน้ำทะเลยุคนั้นเป็นอาหาร
ในเวลากลางคืน จุลินทรีย์สีขาวจะลอยขึ้นสู่ผิวทะเลเพื่อย่อยสลายกำมะถันและแพร่พันธุ์ เมื่อถึงเวลากลางวันก็ถึงเวลาของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในการสังเคราะห์แสงบ้าง ทั้งคู่แข่งขันกันมาอย่างยาวนานแต่ยังไม่มีผู้ชนะเด็ดขาด เนื่องจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนั้นค่อนข้างจะตื่นสาย พวกมันต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในตอนเช้าเพื่อปรับสภาพตัวเองก่อนจะเริ่มสังเคราะห์แสงได้ และการที่โลกเริ่มหมุนรอบตัวเองช้าลงทำให้ช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์ในแต่ละวันยาวนานขึ้น ก็ได้ดำเนินมาช้าๆจนถึงจุดหนึ่ง ที่เวลากลางวันมีความยาวนานเพียงพอให้แสงแดดสาดส่องจนทำให้สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสามารถ สังเคราะห์แสงผลิตออกซิเจนเอาชนะจุลินทรีย์สีขาวลงได้อย่างเด็ดขาด พวกมันขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและก็กลายเป็นอุบัติการณ์ GOE ที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง
ทีมงานได้ทำการทดลองและตรวจวัดจุลินทรีย์ ทั้งในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและในห้องปฏิบัติการ และพบว่าช่วงเวลากลางวันที่ยาวนานขึ้นเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของออกซิเจนในอดีต และไม่ใช่แค่เหตุการณ์ GOE เท่านั้น แต่ยังมีการเติมออกซิเจนในบรรยากาศครั้งที่สองที่เรียกว่าอุบัติการณ์การเพิ่มขึ้นของออกซิเจนครั้งใหญ่ยุคนีโอโพรเทอโรโซอิก (Neoproterozoic Oxidation Event) เมื่อ 800-550 ล้านปีก่อนด้วย
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยครั้งนี้ลงในวารสาร Nature Geoscience