สืบเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโมดูลเนากา ล่าสุดทางบริษัทโบอิ้งประกาศเลื่อนวันทดสอบยานสตาร์ไลเนอร์ในภารกิจ OFT-2 จากวันที่ 31 กรกฎาคม ไปเป็น 00:20 ของวันที่ 4 สิงหาคม 64 ตามเวลาในประเทศไทย
ยาสตาร์ไลเนอร์ starliner จะถูกนำส่งด้วยจรวด Alliance Atlas V จากฐานปล่อย Launch Complex 41 ที่คาบสมุทรคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เพื่อเดินทางไปต่อเชื่อมกับสถานีอวกาศนานาชาติ และจะใช้เวลาอยู่ที่สถานีอวกาศ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเดินทางกลับสู่โลก โดยกางร่มชะลอความเร็วลงจอดที่ทะเลทรายใน New Mexico

การทดสอบยานสตาร์ไลเนอร์ในภารกิจ OFT-2 นี้จะเป็นการทดสอบแบบยานเปล่าไม่มีนักบินอวกาศ แต่บนที่นั่งด้านหน้าจะมีหุ่นดัมมีชื่อ “โรซี” Rosie โดยสารไปด้วย โดยหุ่นจะทำหน้าที่แทนนักบินอวกาศ ทางโบอิ้งอาจมีการติดตั้งเครื่องมือวัดค่าบางชนิดเอาไว้ในตัวหุ่นด้วย
จุดสังเกตคือชุดอวกาศที่ “โรซี” สวมใส่อยู่ ชุดนี้มีความทันสมัยกว่าที่ชุดอวกาศที่ทาง NASA ใช้อยู่ในปัจจุบันมาก มีน้ำหนักเพียง 9 กิโลกรัม เบากว่าชุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันราว 4.5 กิโลกรัม เนื้อผ้าเป็นสีน้ำเงิน มีความยืดยุ่นสูง นักบินอวกาศที่เดินทางไปกับยานของโบอิ้งเมื่อสวมใส่ชุดอวกาศใหม่นี้ก็จะสามารถเคลื่อนไหวตัวได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะที่ข้อศอกและหัวเข่า ถุงมือก็ถูกออกแบบให้สามารถใช้ทำงานกับระบบทัชสกรีนบนหน้าจอต่างๆ ได้ และหมวกก็ถูกทำมาให้ยึดติดอยู่กับชุดนักบินอวกาศชุดนี้เลยเป็นส่วนเดียวกัน
หาการทดสอบครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี บริษัทโบอิ้งก็จะเป็น หนึ่งในผู้ส่งมนุษย์อวกาศไปสู่วงโคจรถัดจากบริษัท SpaceX โดยยานสตาร์ไลเนอร์ของโบอิ้งจะมีความได้เปรียบยานดรากอนของ SpaceX ที่เป็นคู่แข่งอยู่ 2 ประการ อันดับแรกคือทีจำนวนที่นั่งต่อเที่ยวบินที่มากกว่า นั่นคือยานของโบอิ้งสามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้ถึง 7 นายขณะที่ยานดรากอนสามารถบรรทุกได้เพียง 4 นาย แถมโบอิ้งยังมีข้อตกลงกับ NASA แบบพิเศษคือสามารถนำที่นั่งมาขายเพื่อการท่องเที่ยวได้ด้วย ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือยานสตาร์ไลเนอร์นั้นสามารถลงจอดบนบกได้เลย ไม่ต้องไปลอยบนผิวทะเลแบบยานดรากอนที่ต้องรอเรือไปรับนักบินและเก็บกู้ยานกลับเข้าฝั่ง ทำให้มีความสะดวกกว่ากันมาก
ที่มา https://www.space.com/boeing-starliner-orbital-flight-test-2-photos
เครดิตภาพ บริษัทโบอิ้ง