การดูดาวจากพื้นผิวโลกมักถูกรบกวนด้วยสภาพของชั้นบรรยากาศ เช่นเมฆ ฝุ่นละออง และมลภาวะทางแสง ที่ผ่านมาจึงต้องมีการส่งกล้องโทรทรรศน์ออกไปสู่อวกาศ นับเป็นงบประมาณมหาศาล แต่ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็พบวิธีการแบบพอเพียง นั่นคือติดกล้องดูดาวไว้กับบอลลูนที่ลอยสูงจนพ้นสิ่งรบกวนทั้งปวง
กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Superpressure Balloon-borne Imaging Telescope ชื่อย่อว่า SuperBIT เป็นกล้องที่มีเลนส์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เมตร ติดตั้งอยู่บนบอลลูนก๊าซฮีเลัยมที่มีปริมาตร 532,000 ลูกบาศก์เมตร สร้างแรงยกตัวให้กล้องโทรทรรศน์สามารถลอยอยู่เหนือพื้นดินสูงถึง 40 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์นานหลายเดือน โดยมีความนิ่งสูงมาก
กล้อง SuperBIT จะส่ายไปมาในระดับ 1/36000 องศาต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่ามีความเที่ยงตรงในระดับสูงพอๆกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเลยทีเดียว แต่ประหยัดงบแบบที่เรียกว่าเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากกล้อง SuperBIT นั้นใช้เทคโนโลยี่บรรจุก๊าซฮีเลียมทึ่ “ความดันยิ่งยวด” ทำให้ใช้งานในแต่ละครั้งที่ส่งขึ้นไปได้นานพอจนคุ้มทุน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังนำลงมาอัพเกรดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ง่าย
ทีมผู้สร้างอันประกอบด้วยนักวิจัยจาก Durham University ในสหราชอาณาจักร, Princeton University และ University of Toronto ในแคนาดา ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ NASA และ Canadian Space Agency ประกาศในงานแถลงข่าวการประชุมดาราศาสตร์เสมือนจริง (NAM 2021) เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า (ตามเวลาท้องถิ่น) ในอนาคตอาจมีการพัฒนาบอลลูนจนสามารถ รองรับกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเลนส์ 1.5 เมตร ซึ่งอาจช่วยให้เราได้ภาพของจักรวาลชัดเจนระดับน้องๆกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเลยทีเดียว