ท่อนขับดันที่มีน้ำหนักถึง 18 ตันของจรวดยักษ์ “ลองมาร์ช 5บี วาย 2” (Long March 5B Y2) จากจีน ตกจากชั้นบรรยากาศลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่พิกัด 2.65°N 72.47°E บริเวณใกล้กับทิศตะวันตกของประเทศมัลดีฟส์ เมื่อ 09:24 เช้าวานนี้ (9 พ.ค.64) ตามเวลาในประเทศไทย ล่าสุดยังไม่มีรายงานความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ชิ้นส่วนจรวดนี้ ทำหน้าที่ส่งโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอ (天和 ) ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเช้าวันที่ 29 เมษายน 64 จากนั้นก็โคจรวนไปรอบโลกอีกสิบกว่าวัน ท่ามกลางการจับตาดูด้วยความกังวลของนานาชาติ ว่าชิ้นส่วนอันตรายนี้จะตกลงสู่ผิวโลกแบบไร้การควบคุม ณ บริเวณใด เพราะหากตกลงในเมืองหรือชุมชน ย่อมก่อให้เกิดอันตรายขึ้นมาไม่มากก็น้อย

ปกติแล้วชิ้นส่วนจรวดขนาดทั่วไปที่แยกตัวออกหลังหมดหน้าที่ส่งยานอวกาศหรือดาวเทียม จะตกกลับลงมาทันที จึงมีการวางแผนให้เส้นทางของจรวด วิ่งผ่านมหาสมุทร และในบางกรณีอย่างเช่นของบริษัท SpaceX ก็มีการออกแบบให้จะจรวดขับดันสามารถลงจอดด้วยความปลอดภัยบนแท่นรองรับ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในอนาคต แต่ในกรณีจรวดยักษ์ “ลองมาร์ช 5บี วาย 2” ของจีน เนื่องด้วยมีพลังขับดันสูงมาก ท่อนจรวดจึงหลุดแรงโน้มถ่วงขึ้นไปโคจรอยู่รอบโลก ซึ่งในการนี้องค์การอวกาศจีนน่าจะรู้ดี แต่กลับไม่ออกแบบติดตั้งระบบขับดันสำรองเพื่อบังคับทิศทางให้จรวดตกกลับลงมาในตำแหน่งที่เหมาะสม
กระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ว่า ความเสี่ยงที่ชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ชจะเป็นอันตรายนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากชิ้นส่วนน่าจะถูกเผาไหม้ไปเกือบหมดด้วยความร้อนจากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกขณะที่ตกกลับลงมา
เมื่อปีก่อนชิ้นส่วนของจรวดจีนรุ่นเดียวกันนี้ เคยตกลงบนพื้นที่ไร้ผู้คนอยู่อาศัยของประเทศโกตดิวัวร์ในแอฟริกา เมื่อมีการเกิดซ้ำในปีนี้ จึงมีเสียงถามหาความรับผิดชอบกับจีนจากประเทศต่างๆที่เป็นผู้นำทางด้านอวกาศ เนื่องจากจีนยังต้องส่งชิ้นส่วนของสถานีอวกาศของตนอีกหลายชิ้นตามแผนงานที่วางไว้