ทีมนักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินตรวจพบแหล่งกำเนิดลำอนุภาคคอสมิคเจ็ทที่ไกลและเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา มันอยู่ห่างออกไปไกลถึง 12,920 ล้านปีแสง และมีอายุอยู่ในสมัยที่เอกภพเพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาได้เพียง 780 ล้านปีเท่านั้น
แหล่งกำเนิดลำอนุภาคคอสมิคเจ็ทนี้มีชื่อว่า PSO J172.3556+18.7734 ซึ่งแท้จริงมันคือ “เควซาร์” แห่งหนึ่ง แน่นอนว่าเราเคยค้นพบเควซาร์อื่นที่ไกลและเก่าแก่กว่านี้มาแล้ว แต่เควซาร์เหล่านั้นไม่ใช่แหล่งกำเนิดลำอนุภาคคอสมิคเจ็ทเหมือน PSO J172.3556+18.7734 ที่พบล่าสุดนี้ และที่โดดเด่นคือมันยังปล่อยคลื่นวิทยุออกมาอย่างรุนแรงด้วย
การเกิดลำอนุภาคคอสมิคเจ็ทนั้นมาจากการที่วัตถุศูนย์กลางที่มีแรงโน้มถ่วงสูงอย่างหลุมดำ ดาวนิวตรอน หรืออื่นๆหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วจนเหวี่ยงสสารที่ดึงดูดมาได้ให้มีสภาพคล้ายแผ่นจานหมุนไปรอบๆเหมือนวงแหวนดาวเสาร์ อนุภาคสสารส่วนหนึ่งจะถูกหมุนปั่นแยกออกจากจานไปทางด้านบนและล่าง กลายเป็นลำอนุภาคเจ็ทพุ่งออกไปไกลเป็นเส้นยาว และวัตถุศูนย์กลางของ PSO J172.3556+18.7734 ที่พบนี้คือหลุมดำยักษ์ที่มีมวลมากมายถึง 300 เท่าของดวงอาทิตย์ของเรา
“หลุมดำใจกลางเควซาร์นี้กำลังดูดกลืนสสารอย่างรวดเร็วและมีมวลเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการสังเกตมา” ดร. เคียรา มาซซูเชลลี หนึ่งในทีมนักดาราศาสตร์จาก ESO ผู้ค้นพบวัตถุนี้อธิบาย
“ หลุมดำใจกลางเควซาร์ที่อยู่ห่างไกลมากเหล่านี้มีขนาดใหญ่ยักษ์จนท้าทายความเข้าใจของเราว่า มันมีวิธีการไหนที่ทำใก้หลุมดำพวกนี้เติบโตขึ้นมาได้เร็วเพียงนี้ในช่วงเริ่มแรกของประวัติศาสตร์จักรวาล” Emmanuel Momjian นักดาราศาสตร์จาก National Radio Astronomy Observatory (NRAO) หนึ่งในทีมงานกล่าวเสริม
“ ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือ ลำอนุภาคคอสมิคเจ็ทอาจเป็นกลไกที่ทำให้หลุมดำเติบโตได้เร็วขึ้น” ดร. คริส คาริลลี อีกหนึ่งในทีมงานช่วยอธิบาย “ลำอนุภาคเจ็ทมีบทบาทในการควบคุมการก่อตัวของดาวฤกษ์และการเติบโตของกาแลคซีโฮสต์ ดังนั้นการค้นพบนี้จึงมีค่าต่อการทำความเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ในจักรวาลยุคแรกเป็นอย่างมาก
ทีมงานยังต้องหาคำตอบอีกหลายประการถึงการมีอยู่ของต้นกำเนิดลำอนุภาคคอสมิคเจ็ทนี้ แต่อย่่างไรก็ตาม การค้นพบนี้จะเป็นพื้นฐานให้การศึกษาภาวะเริ่มแรกของเอกภพมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยครั้งนี้ในวารสาร Astrophysical Journal.
ที่มาและเครดิตภาพ http://www.sci-news.com/astronomy/most-distant-cosmic-jet-09427.html