03:55 เช้านี้ (19 กุมภาพันธ์) หุ่นยนต์ “เพอร์เซเวียแรนซ์” ที่ออกเดินทางจากโลกมายาวนานเกือบ 7 เดือน ผ่านระยะทางยาวไกลกว่า 470 ล้านกิโลเมตร ก็กางล้อร่อนแตะพื้นดาวอังคารบริเวณหลุมอุกกาบาต Jezero ได้ตามคาดหมาย
การลงจอดเริ่มขึ้นเมื่อ 03:38 ตามเวลาในประเทศไทย เริ่มจากการที่ยานปลดส่วนที่ใช้งานในอวกาศเช่นถังเชื้อเพลิงและเซลสุริยะออก จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร โดยเกราะกันความร้อนด้านล่างต้องพบความร้อนจากการเสียดสีกับโมเลกุลของอากาศสูงถึง 1,300°C
จากนั้นเมื่อเวลา 03:52 ยานเริ่มกางร่มชูชีพเพื่อชะลอความเร็ว และในอีก 20 วินาทีต่อมา ก็มีการปลดเกาะกันความร้อนด้านใต้ยานออกไป เพื่อใช้ระบบนำร่องลงจอด Terrain Relative Navigation (TRN) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้เพื่อสำรวจภูมิประเทศที่พบจริงขณะร่อนลง แล้วนำไปเปรียบเทียบกับภาพเก่าในฐานข้อมูลเพื่อตัดสินใจหาจุดลงจอดที่ปลอดภัยต่อตัวยานมากที่สุด (พื้นที่สีฟ้าในภาพล่าง) แม้ไม่ตรงเป้าหมายถึง 2 กม. ก็ไม่เป็นไรเพราะ “เพอร์เซเวียแรนซ์” เป็นหุ่นยนต์ติดล้อ จึงสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปที่ๆต้องการได้ในภายหลัง

และในที่สุดเมื่อ 03:55 ตามเวลาในประเทศไทย ล้อทั้ง 6 ของหุ่นยนต์ “เพอร์เซเวียแรนซ์” ก็ลงแตะพื้นดาวอังคารโดยสวัสดิภาพ และได้ส่งภาพทิวทรรศน์บนดาวอังคารที่ถ่ายผ่านกล้อง Hazard camera มาเพื่อยืนยันความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ (ภาพไม่ชัดเพราะถ่ายผ่านหน้ากากกันฝุ่น)

หุ่นยนต์ “เพอร์เซเวียแรนซ์” จะทำหน้าที่ค้นหาหลักฐานการมีอยู่ของจุลชีพโบราณบริเวณจุดลงจอดที่มีชื่อว่า “Jezero” ซึ่งเชื่อว่าเคยเป็นทะเลสาบในสมัยหลายพันล้านปีก่อนสมัยที่ดาวอังคารยังมีน้ำไหลอยู่บนผิวดาว
หุ่นยนต์ “เพอร์เซเวียแรนซ์” ถือเป็นยานสำรวจดาวอังคารลำที่ 9 ที่ประสบความสําเร็จในการลงจอด แต่จะเป็นยานลำแรกที่ทำให้เราได้ยินเสียงบนผิวดาวเคราะห์ดวงอื่นจากการติดตั้งไมโครโฟน 2 ตัวไว้ที่่กล้องถ่ายภาพ และจะเป็นครั้งแรกที่มีการปล่อยอากาศยานไปบินบนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่ไม่ใช่โลก นั่นคือเฮลิคอปเตอร์ “Ingenuity” ที่ท่านสามารถอ่านรายละเอียดตามบทความนี้ของเรา https://stem.in.th/ingenuity/
จากนี้หุ่นยนต์ “เพอร์เซเวียแรนซ์” มูลค่า 2,700 ล้านเหรียญ ก็จะปฏิบัติหน้าที่ในการค้นหาชีวิตโบราณเพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดว่า โลกเราคือดาวดวงเดียวรึเปล่าที่เคยมีและยังมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
เรียบเรียงโดย @MrVop