อาณานิคมอวกาศรูปทรงกระบอกขนาดยักษ์ที่หมุนรอบตัวเองเพื่อใช้แรงหนีศูนย์แทนแรงโน้มถ่วงสำหรับชาวเมืองที่อาศัยอยู่ในนั้นตามที่เราเห็นในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์หลายต่อหลายเรื่อง อาจสร้างขึ้นได้จริงใกล้ดาวเคราะห์แคระซีรีส
แนวคิดที่จะสร้างโลกใบที่ 2 หลายต่อหลายโครงการมักมองไปที่ดาวอังคารเป็นหลัก ด้วยความที่มีสภาพคล้ายคลึงกับโลกยิ่งกว่าดาวเคราะห์ดวงใดในระบบสุริยะ ผู้ก่อตั้งบริษัทกิจการอวกาศ SpaceX อย่างอีลอน มัสก์ ก็ปักหมุดหมายที่จะนำมนุษย์เดินทางไปสร้างอาณานิคมที่นั่นมาหลายปี แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางท่านคิดต่างออกไป
ล่าสุมีงานวิจัยของดอกเตอร์ เปกกา ยานฮูเนน Pekka Janhunen นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวฟินแลนด์จากสถาบันอุตุนิยมวิทยาฟินนิช Finnish Meteorological หรือ FMI ในเฮลซิงกิ ที่ได้เสนอแนวคิดในการสร้างอาณานิคมอวกาศทรงกระบอกไปโคจรรอบดาวเคราะห์แคระซีรีส (Ceres) เหมือนเป็นดาวเทียมขนาดยักษ์หรือ megasatellite แทนที่จะไปสร้างไว้บนผิวดาวเคราะห์อย่างดาวอังคาร

เหตุผลที่ดอกเตอร์เปกกา เลือกดาวเคราะห์แคระซีรีส ก็เพราะความอุดมสมบูรณ์ของไนโตรเจนที่สามารถนำมาสร้างเป็นบรรยากาศให้มนุษย์ได้ใช้หายใจในความดันเท่ากับบนโลก (ชั้นบรรยากาศของโลกมีไนโตรเจนประมาณ 79%) เพียงแต่เติมอ๊อกซิเจนเข้าไป ต่างจากบนดาวอังคารที่ขาดทั้งไนโตรเจนและอ๊อกซิเจน และหากถามว่าเราจะหาอ๊อกซิเจนจากไหน มหาสมุทรน้ำเค็มใต้ผิวดาวเคราะห์แคระซีรีสก็คือคำตอบ เราสามารถแยกน้ำเป็นอ๊อกซิเจนสำหรับหายใจและยังได้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงด้วย
ข้อดีที่เหนือกว่าดาวอังคารข้อจ่อไปคือแรงโน้มถ่วงเทียมของอาณานิคมอวกาศจะถูกตั้งค่าให้เท่ากับโลกพอดี กล้ามเนื้อของมนุษย์ก็จะมีความคุ้นเคย ไม่เหมือนแรงโน้มถ่วงบนดาวอังคารที่มีค่าเพียง 1 ใน 3 ของโลก ที่ทำให้กล้ามเนื้อมนษ์ลีบเล็กลงได้เมื่ออยู่อาศัยไปหลายๆปี

อาณานิคมอวกาศทรงกระบอกยักษ์ซึ่งใช้เป็นที่อยู่แต่ละแห่ง จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 กิโลเมตร ยาว 10 กิโลเมตร สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้สูงสุดถึง 57,000 คน อาณานิคมอวกาศทรงกระบอกเหล่านี้จะสามารถเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นนครอวกาศขนาดมหึมาบนโครงสร้างรูปจานแบน ประกบด้วยกระจกสะท้อนแสงอาทิตย์บานใหญ่ทำมุม 45° ที่ด้านบนและด้านล่าง เพื่อให้มีความร้อนและแสงสว่างเพียงพอต่อการผลิตพลัวานไฟฟ้า เพาะปลูกต้นไม้ และทำเกษตรกรรมบนพื้นดินหนา 1.5 เมตร ซึ่งก็ได้มาจากแร่ธาตุในดาวเคราะห์แคระซีรีสนั่นเอง
ดอกเตอร์เปกกามองว่าหากเริ่มอย่างไม่รอช้า โครงการอาจเป็นรูปเป็นร่างในไม่เกิน 22 ปีจากนี้ และวันหนึ่งเราอาจมีเด็กที่เกิดและเติบโตในอาณานิคมอวกาศแบบชาวสเปซนอยด์ในการ์ตูนญี่ปุ่นยุคทศวรรษที่ 80 อย่างเรื่องกันดั้มก็เป็นได้
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร arXiv