บริษัท SpaceX ส่งดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนถึง 143 ดวงขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดฟอลคอน 9 จากฐานปล่อย Space Launch Complex 40 คาบสมุทรคานาเวอรัล ฟลอริดา 22:00 เมื่อคืนนี้ (24 ม.ค. 63) ตามเวลาในประเทศไทย ถือเป็นสถิติใหม่ในการส่งดาวเทียมจำนวนมากขนาดนี้ในครั้งเดียว
ดาวเทียมขนาดเล็กทั้ง 143 ดวงเป็นของลูกค้าหลากหลายราย อาทิเช่น NanoRacks, NanoAvionics, Exolaunch, Swarm Technologies, Spaceflight, HawkEye, NASA, iQPS, Umbra Labs, Celestis, Astrocast, Tyvak Nano-Satellite Systems, US DOD, USAF, KelplarianTech, NearSpace, Space Domain Awareness, R2, LINCOLNSHIRE, inOrbit, PlanetiQ, Capella, Kepler, Astro Digital, D-Orbit, Israel defense, spaceQ, UVSQ ฯลฯ รวมทั้งมีดาวเทียมสตาร์ลิงค์ของ SpaceX เองอีก 10 ดวงรวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย

การส่งดาวเทียมครั้งนี้ ทาง SpaceX ตั้งชื่อภารกิจว่า Transporter- 1 ซึ่งเป็นการส่งดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจร SSO** ในรูปแบบที่ทางบริษัทเรียกว่า “rideshare” คล้ายกับพฤติกรรมแบ่งปันแบบ “ทางเดียวกันไปด้วยกัน” บนถนน ทำให้ค่าส่งดาวเทียมต่อดวงลดลงเป็นอันมาก ถือเป็นก้าวสำคัญของทางบริษัทในการรับจ้างปล่อยดาวเทียมให้ลูกค้าในอนาคต โดยได้สิ่งเพิ่มเติมคือ
- เที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินที่ 106 ของจรวดรุ่นฟอลคอน
- เป็นการใช้ปล่อยจรวดแบบใช้ท่อนล่าง (booster)ซ้ำ (re-flight) ครั้งที่ 52 ของทางบริษัท
- เป็นการปล่อยจรวดครั้งที่ 3 ของ SpaceX ในปีนี้ (2564) และทุกครั้งเป็นการใช้ซ้ำจรวดท่อนล่าง
- เป็นดาวเทียมสตาร์ลิงค์ชุดแรก (10 ดวง) ที่จะไปโคจรรอบโลกในวงโคจร SSO**
- จรวดท่อนล่าง (booster) กลับมาลงจอดบนเรือโดรนสำเร็จเป็นครั้งที่ 23 ติดต่อกันกับครั้งก่อนๆนี้ ถือเป็นอีกสถิติใหม่ของบริษัท SpaceX
- เรือโดรนที่รอรับการลงจอดจรวดท่อนล่าง (booster) ในครั้งนี้ มีชื่อเรียกว่า “Of Course I Still Love You”
- จรวดท่อนล่าง (booster) ที่ใช้นี้ เป็นท่อนเดียวกับที่เคยส่งสองนักบินอวกาศ Bob Behnken และ Doug Hurley ในภารกิจประวัติศาสตร์ Demo-2 เมื่อเดือนพฤษภา 2563
ต้องเรียกว่าเป็นบริษัทกิจการอวกาศที่ขยันสร้างสถิติใหม่ๆออกมาอยู่เสมอ และแน่นอนว่าจะมีนวัตกรรมที่น่าสนใจออกมาให้เราได้เห็นในอีกไม่นานเดินรอ
** วงโคจ SSO ย่อมาจากคำว่า Sun Synchronous Orbit หรือในภาษาไทยว่า วงโคจแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ เป็นวงโคจรประเภทหนึ่งดาวเทียมที่จะโคจรในแนวผ่านบริเวณขั้วโลก และกลับมาตั้งฉากกับบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่เวลาท้องถิ่นเดิมเสมอ เช่น โคจรผ่านกรุงเทพฯทุกวัน เวลาเที่ยงตรง เป็นต้น การที่ดาวเทียมโคจรและมองมายังตำแหน่งบนโลกได้ราวกับว่ามันผ่านเวลาเดิมของวันเสมอ ทำให้มุมที่แสงพระอาทิตย์ตกกระทบมายังพื้นโลกในแต่วันใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของภาพถ่ายดาวเทียม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การดูความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร การเฝ้าติดตามไฟป่าและน้ำท่วมเพื่อทำนายแนวโน้มในอนาคต หรือการทหาร เป็นต้น