ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตาของแคนาดา นำโดยดอกเตอร์ Ivan Pakhotin วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากฝูงดาวเทียม Swarm ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์สนามแม่เหล็กโลกมาตั้งแต่ปี 2013 และได้พบความแตกต่างที่สำคัญของการเกิดปรากฏการณ์แสงเหนือแสงใต้
ขั้วโลกของเรานั้นมีด้วยกัน 2 ขั้ว เราจึงมักคิดว่า แสงเหนือ หรือ aurora borealis และ แสงใต้ หรือ aurora australis น่าจะมีโอกาสเกิดในอัตราส่วนเท่าๆ แต่ล่าสุด ข้อมูลที่ได้จากฝูงดาวเทียมขององค์การอวกาศยุโรป(ESA) ไม่ได้บอกเราเช่นนั้น
เรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจคำว่า “ขั้วโลก” เสียก่อน เรามีขั้วโลกอยู่ 3 ชนิด ชนิดแรกคือขั้วโลกทางภูมิศาสตร์หรือ Geographic Pole ซึ่งก็คือแกนหมุนของโลกตามแนวตั้ง ต่อมาคือขั้วของแม่เหล็กโลก หรือ Geomagnetic Pole ซึ่งเป็นขั้วแม่เหล็กที่มีตำแหน่งของขั้วเป็นไปตามการคำนวนที่เข็มทิศสมัยใหม่ในโทรศัพท์มือถือจะชี้ไปหา และสุดท้ายคือ Dip Pole หรือขั้วแม่เหล็กโลกจริงที่ค้นพบโดยการสำรวจของเจมส์ คลาร์ก รอสส์ในยุค 1830 ขั้วนี้คือจุดที่เส้นแรงแม่เหล็กจะตั้งฉากพุ่งลงสู่แกนโลก เป็นขั้วแม่เหล็กที่เข็มทิศแบบโบราณจะชี้ไปหาเสมอ
ผลการศึกษาของทีมวิจัยล่าสุดพบว่า ขั้วแม่เหล็กโลกจริง South dip pole ทางทิศใต้ มีระยะห่างจากแกนหมุนของโลก South geographic pole มากกว่าขั้วแม่เหล็กโลกจริงทางทิศเหนือ ทำให้เกิดการสะท้อนคลื่นพลาสมาแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่าคลื่นอัลเฟน (Alfven wave) จากลมสุริยะไม่สมมาตรกัน ผลก็คือปรากฏการณ์แสงใต้ จะเกิดได้น้อยกว่าปรากฏการณ์แสงเหนือ ไม่ได้เกิดเท่าๆกันอย่างที่เราเคยเข้าใจกันมา
ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากผิวโลกแถบขั้วโลกเหนือส่วนใหญ่เป็นแผ่นดิน จึงถือเป็นการสะดวกในการไปรอชมปรากฏการณ์แสงเหนือมากกว่าแถบขั้วโลกใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล มีจุดชมแสงใต้เพียงไม่กี่จุดเท่านั้น
ที่มาและเครดิตภาพ https://scitechdaily.com/swarm-satellite-constellation-makes-surprising-discovery-about-space-weather/