บริเวณใจกลางทะเลมีเทนเหลวขนาดใหญ่ที่สุดของดวงจันทร์ไททันที่มีชื่อว่า “คราเคน มาเร” (Kraken Mare) นั้น พบว่ามีความลึกมากกว่า 100 เมตร ซึ่งมีความลึกยิ่งกว่าจุดลึกสุดในอ่าวไทยของเราที่มีความลึกเพียง 80 เมตรเท่านั้น
ความลึกของ “คราเคน มาเร” ทำให้มันกลายเป็นแหล่งกักเก็บของเหลวปริมาณมากถึง 80% บนผิวดวงจันทร์ไททัน ที่เหลือกระจายอยู่ตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ
“ความลึกนี้ได้รับการยืนยันตามขั้นตอนตรวจสอบของ NASA ที่ได้ใช้เครื่องมือ RADAR บนยานแคสสินีไล่ตรวจวัดแหล่งน้ำมีเทนต่างๆบนไททันตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 จนเกือบครบทุกจุด” ดร. วาเลริโอ พอจเชียลีก นักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล ผู้รับผิดชอบโครงการอธิบาย
เราเริ่มวัดความลึกบริเวณที่เรียกว่า “มอเรย์ ไซนัส” (Moray Sinus) ซึ่งเป็นปากอ่าวที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของทะเล ”คราเคน มาเร” ในปี 2014 โดยใช้วิธีสังเกตความแตกต่างของเวลาเดินทางไปกลับของสัญญาณเรดาร์จากผิวถึงก้นทะเล รวมทั้งคำนวนค่าของปริมาณพลังงานเรดาร์ที่ถูกดูดซึมระหว่างการเคลื่อนที่ผ่านของเหลว

ขั้นตอนดังกล่าวทำให้เราทำให้เรารู้ความลึกของปากอ่าว “มอเรย์ ไซนัส” นี้ว่าอยู่ที่ 85 เมตร แต่เมื่อเราใช้วิธีการเดิมนี้ในการวัดค่าความลึกบริเวณใจกลางทะเล “คราเคน มาเร” กลับพบว่ามันลึกเกินความสามารถของเรดาร์ที่จะวัดได้ เราประเมินว่ามันน่าจะลึกเกิน 100 เมตรแต่ยังไม่รู้จริงๆว่าลึกถึงแค่ไหน
“ทะเลมีเทน รวมถึงของเหลวจำพวกไฮโดรคาร์บอนบนดวงจันทร์ไททัน ทำให้เรานึกถึงโลกของเราในยุคแรกๆ” ดร. วาเลริโอ กล่าว
“ต้องขอบคุณโครงการวัดค่าความลึกของทะเลบนไททันที่เวลานี้เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานต่อจากเราก็จะสามารถคำนวนค่าความหนาแน่นของของเหลวต่างๆบนผิวดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ดวงนี้ได้อย่างยแม่นยำขึ้น รวมทั้งสมารถหาทิศทางการไหลของมันได้ด้วย”
“ข้อสงสัยคือที่มาของของเหลวเหล่านี้ เนื่องจากดวงจันทร์ไททันอยู่ไกลดวงอาทิตย์มากกว่าโลก แสงอาทิตย์ที่ส่องไปถึงที่นั่นย่อมอ่อนกว่าที่ส่องมายังโลกเราเป็นร้อยเท่า ขั้นตอนทางเคมีบนดวงจันทร์ดวงนี้ย่อมแตกต่างจากโลกเราในยุคแรกๆ”
“แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทาง NASA ก็มีโครงการสำรวจดวงจันทร์ไททันด้วยยานคล้ายเรือดำน้ำในอนาคต ถึงตอนนี้ปริศนาต่างๆก็จะถูกคลี่คลาย” ดร. วาเลริโอ กล่าวทิ้งท้าย
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร Journal of Geophysical Research
ที่มาและเครดิตภาพ http://www.sci-news.com/space/kraken-mare-titan-09275.html
_____
V. Poggiali et al. The Bathymetry of Moray Sinus at Titan’s Kraken Mare. Journal of Geophysical Research: Planets, published online November 12, 2020; doi: 10.1029/2020JE006558