ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสทอล พบซากแมลงปีกแข็งในวงศ์ย่อยอีลาเทอรอยด์ ซึ่งเป็นวงศ์ย่อยเดียวกับ”หิ่งห้อย” แมลงเรืองแสงที่เรารู้จักกันดี มีอายุกว่า 99 ล้านปีตั้งแต่สมัยช่วงกลางยุคครีเทเชียสในก้อนอำพันที่ขุดพบจากเหมืองทางตอนเหนือของประเทศพม่า
แมลงปีกแข็งอีลาเทอรอยด์เพศผู้ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า Cretophengodes azari มีอวัยวะสร้างแสงที่ท้ายลำตัวแบบที่พบในหิ่งห้อยทุกวันนี้
“แมลงเรืองแสงกลุ่มนี้มีขนาดเล็กและมีร่างกายอ่อนนุม ที่ผ่านมาเราจึงพบฟอสซิลของมันได้ยากมาก” ดร. Chenyang Cai นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสทอลและสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยานานกิงกล่าว
“แต่ฟอสซิลล่าสุดที่พบในก้อนอำพันพม่านี้ มีความสมบูรณ์อย่างไม่น่าเชื่อ ชิ้นส่วนร่างกายของมันแทบจะอยู่ครบหมดไม่เว้นแม้แต่อวัยวะผลิตแสง” ดร. Chenyang กล่าวเสริม
ฟอสซิลแมลงปีกแข็งที่เรียกได้ว่าเป็นหิ่งห้อยจากยุคครีเทเชียสตัวนี้ นำมาจากก้อนอำพันที่ขุดพบในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศพม่าที่มีพรมแดนติดกับจีน มันมีรายละเอียดครบถ้วนจนนักกีฏวิทยามองเห็นลักษณะเด่นที่แตกต่างจากแมลงทุกสกุลในวงศ์นี้ที่เคยรู้จัก จึงได้ตั้งสกุลใหม่ให่มันว่า “Cretophengodidae”
“แมลงปีกแข็งอีลาเทอรอยด์เป็นหนึ่งในกลุ่มแมลงที่แตกต่างกันมากที่สุด และเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับนักกีฏวิทยาที่จะจัดแบ่งจำพวกของมัน เนื่องจากมันมีวิวัฒนาการทางกายวิภาคหลายต่อหลายครั้งที่แยกออกโดยอิสระแบบไม่เกี่ยวข้องกันในกลุ่มนี้” ทีมผู้ค้นพบอธิบาย
“การค้นพบฟอสซิลแมลงปีกแข็งอีลาเทอรอยด์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากช่วยให้เราได้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงของวิวัฒนาการแมลงนี้จากอดีตจนถึงพวกที่พบในปัจจุบัน”
แมลงในวงศ์นี้มีวัฏจักรชีวิตครบ 4 ขั้นตอน คือไข่ หนอน ดักแด้ และแมลงที่โตเต็มวัย เราคาดว่าในยุคแรกๆพวกมันเริ่มมีอวัยวะที่ผลิตแสงได้ในระยะตัวอ่อนที่เป็นหนอนเท่านั้น ด้วยจุดประสงค์เพื่อขับไล่ศัตรูเหมือนที่พบในตัวอ่อนหิ่งห้อยยุคปัจจุบัน เนื่องจากร่างกายของหนอนพวกนี้มีรสชาติค่อนข้างแย่ การเรืองแสงจึงเป็นการเตือนผู้ล่าว่าอย่าจับพวกมันไปกิน ทำนองนั้น
แต่ที่พบล่าสุดจากฟอสซิลในก้อนอำพันนี้ ยืนยันกับเราว่าแมลงชนิดนี้ในระยะโตเต็มวัยเมื่อสมัย 99 ล้านปีก่อนก็มีอวัยวะผลิตแสงเช่นเดียวกัน เราจึงเชื่อมโยงมันกับวัตถุประสงค์เดียวกันของหิ่งห้อยที่พบทุกวันนี้ คือใช้แสงเพื่อการสื่อสารและจับคู่ผสมพันธุ์
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการค้นพบครั้งนี้ลงในวารสาร Royal Society B