ทีมนักดาราศาสตร์จากแคนาดา สหรัฐอเมริกาเยอรมนีและญี่ปุ่นนำโดย ดร. Caroline Piaulet จากสถาบันวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบ iREx (Institute for Research on Exoplanets) พบดาวเคราะห์แก้สยักษ์ที่มีความหนาแน่นต่ำมากจนไม่น่าจะก่อตัวขึ้นมาได้
ดาวเคราะห์แก้สนอกระบบสุริยะดวงนี้มีชื่อว่า WASP-107b โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ในระบบดาว WASP-107 ที่อยู่ห่างจากโลกเราออกไป 212 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวราศีกันย์
WASP-107b โคจรอยู่ใกล้ชิดดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบของมันยิ่งกว่าระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ถึง 16 เท่า นั่นหมายถึงเวลาหนึ่งปีบนดาวเคราะห์ดวงนี้สั้นเพียง 5.7 วันของเราเท่านั้น
ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 2561 แต่เพิ่งได้รับการตรวจสอบซ้ำจากทีมงานของ Caroline จนได้พบข้อมูลที่น่าประหลาดใจ ทีมงานพบว่าดาวเคราะห์แก้สยักษ์ WASP-107b นี้มีมวลน้อยกว่ามวลของดาวพฤหัสถึง 10 เท่าขณะที่มีขนาดใกล้เคียงกัน นั่นหมายถึงมันมีความหนาแน่นต่ำจนไม่น่าเชื่อ ทำเอาทึมงานถึงกับเรียกมันในชื่อเล่นว่าซุปเปอร์พัฟเลยทีเดียว
ทีมงานยังพบว่ามวลส่วนใหญ่ของดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่ได้อยู่ที่แกนดาว แต่กลับไปอยู่ที่กลุ่มแก๊สผิวดาว นั่นทำให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าดาวดวงนี้ก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไรในอดีต เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของแกนดาวไม่น่าจะมากพอที่จะดูดแก๊สอื่นๆให้มารวมกันเป็นดาวเคราะห์ได้ ถ้าโคจรของมันอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ขนาดนั้น
สมมติฐานที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือดาวเคราะห์ดวงนี้ก่อตัวที่ระยะไกลจากดาวฤกษ์ แต่เกิดมีปัจจัยอะไรบางอย่างที่ผลักให้ดาวเคราะห์ดวงนี้ ขยับเข้ามาใกล้ดาวฤกษ์หลังจากก่อตัวสำเร็จแล้ว นี่เป็นเหตุให้ทีมงานพยายามมองหาที่มาของแรงผลักนั้นจนได้พบดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งในระบบดาวเดียวกัน
ดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่พบนี้มีชื่อเรียกว่า WASP-107c มีมวลราวหนึ่งในสามของดาวพฤหัส และโคจรอยู่ในระยะที่ไกลกว่ามาก นั่นคือโคจรรอบดาวฤกษ์ครบ 1 รอบทุกๆ 3 ปี มีระนาบการโคจรที่เป็นวงรีที่มีอัตราส่วนความรีค่อนข้างมากมาก ทีมงานมองว่าข้อสมมติฐานนี้น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงเกิดรบกวนวงโคจรกันและกันหลังการก่อตัวสำเร็จ ทางหนึ่งผลักเจ้าดาวเคราะห์ปุยนุ่น WASP-107b เข้าไปใกล้ดาวฤกษ์ อีกทางก็เหวี่ยงดาวเคราะห์ WASP-107c ออกไปโคจรในระยะไกลตามที่กล่าวมา
นอกจากความหนาแน่นต่ำแล้ว เรายังพบว่าดาวเคราะห์ WASP-107b นี้ มีแก๊สฮีเลียมเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่ใช่แอมโมเนียแบบดาวแก้สทั่วไป ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่อีกเรื่องในวงการดาราศาสตร์