โตรกผา หรือ แคนยอน “Canyon” คือพื้นแผ่นหินผากว้างใหญ่ ที่มีหุบเหวลึกที่เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำผ่าลงไปจนกลายเป็นแนวผาหินที่สูงชัน
แคนยอน หรือโตรกผาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของเรา คือ “แกรนด์ แคนยอน” ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา แคนยอนแห่งนี้มีหน้าผาที่มีความสูง 1,600 เมตร และหุบเหวยาว 450 กิโลเมตร และกว้างโดยเฉลี่ย 15 กิโลเมตร
แต่ล่าสุดกล้องถ่ายภาพ HiRise ที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียมโคจรสำรวจดาวอังคาร (MRO) ขององค์การนาซา ก็ได้พบโตรกผาหรือ แคนยอน ที่มีขนาดใหญ่กว่าแกรนด์ แคนยอน หลายเท่า ที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร
แคนยอน หรือโตรกผายักษ์แห่งนี้ มีชื่อว่า “แวลลิส มารีเนอรีส” Valles Marineris มีความยาว 4,000 กิโลเมตร กว้าง 200 กิโลเมตร และมีความลึกถึง 10 กิโลเมตร มีความยาวถึง 1 ใน 4 ของเส้นรอบวงของดาวอังคาร และมีความยาวเกือบ 10 เท่าของแกรนด์แคนยอน ทั้งยังลึกกว่าถึง 3 เท่า ถือเป็นแคนยอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ
เมื่อมาดูกำเนิดของมัน แคนยอนบนโลกเรานั้น เกิดจากแม่น้ำไหลกัดเซาะผ่านพื้นแผ่นหินผาเป็นเวลายาวนานหลายล้านปี ถ้าใช้สมมุติฐานเดียวกัน ก็หมายความว่าหลายล้านปีที่แล้วบนดาวอังคารก็มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านหินผาเช่นกัน ใช่หรือไม่
ผลการสำรวจทางธรณีวิทยาที่ผ่านมาไม่พบว่าดาวอังคารจะเคยมีแม่น้ำขนาดใหญ่เช่นนี้ได้แม้จะเป็นในอดีตอันยาวไกลก็ตาม
ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ตั้งข้อสมมติฐานของกำเนิดแคนยอนยักษ์ “แวลลิส มารีเนอรีส” นี้ว่า น่าจะมีความเกี่ยวพันกับการเกิดขึ้นของเนินใหญ่ ธาร์ซิส (Tharsis) ที่อยู่ใกล้เคียง อันเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ นั่นคือ โอลิมปัส มอนส์ (Olympus Mons) ลักษณะของหินในแคนยอนบ่งบอกถึงการปะทุของภูเขาไฟ และการไหลของลาวาในยุคโบราณ
แรงดันของแมกมาใต้ภูเขาไฟยักษ์เหล่านี้ อาจทำให้เปลือกผิวของดาวอังคารยืดขยายและเกิดแนวฉีกขาด ในที่สุดก็พังถล่มลงกลายเป็นหุบผาลึกและชันของแคนยอน “แวลลิส มารีเนอรีส” (Valles Marineris) ในที่สุด
เครดิตภาพ NASA/JPL/University of Arizona
เรียบเรียงโดย @MrVop