เชื่อกันมานานว่า สารพันธุกรรมยุคแรกเริ่มบนโลกของเรามีแต่ RNA เท่านั้น และสิ่งมีชีวิตแรกบนโลกก็ถือกำเนิดขึ้นจาก RNA เพียงอย่างเดียว ส่วน DNA เป็นสารพันธุกรรมซับซ้อนกว่าที่วิวัฒนาการขึ้นภายหลัง แต่.. ความเชื่อนี้อาจกำลังเปลี่ยนไป
ทีมนักเคมีจากสถาบันวิจัยสคริปส์ (Scripps Research) ของสหรัฐฯ นำโดย รศ.ดร. รามานารายาณัน กฤษณมูรติ ค้นพบว่าสารประกอบชนิดหนึ่งซึ่งน่าจะมีอยู่ในโลกยุคแรกนั่นคือ DAP หรือ ไดอะมิโนฟอสเฟต (diamidophosphate) อาจเป็นตัวถักทอเชื่อมประสานเบสที่เป็นองค์ประกอบย่อยของ DNA นั่นคือดีออกซีนิวคลีโอไซด์ (Deoxynuclepside) เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นโมเลกุลซับซ้อนชนิดแรกในโลกที่สามารถผลิตซ้ำตัวของมันเองได้ เป็นจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิตในเวลาต่อมา
และเมื่อในโลกยุคแรกที่ยังไร้ชีวิตนั้นมี DAP และ ดีออกซีนิวคลีโอไซด์อยู่กลาดเกลื่อนทุกหนแห่ง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ชีวิตแรกเริ่มอาจเกิดขึ้นจากสารพันธุกรรมลูกผสม ที่มีทั้ง RNA และ DNA เป็นองค์ประกอบร่วมกัน ไม่ใช่ RNA อย่างเดียวล้วนๆแบบที่เคยเชื่อกันมา
“การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในการพัฒนาแบบจำลองทางเคมีอย่างละเอียด เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มบนโลกเรานั้น ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร” รศ.ดร. กฤษณมูรติกล่าวทิ้งท้าย
การค้นพบครั้งนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงใน วารสาร Angewandte Chemie ฉบับ International Edition, 2020 ตามนี้ DOI: 10.1002/anie.202015910