ดาวเคราะห์น้อย 2020 SO กำลังจะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกจับเอาไว้ให้โคจรรอบโลก 1 รอบ กลายเป็นดวงจันทร์ชั่วคราวขนาดเล็ก หรือ minimoon ก่อนโคจรจากกันไป และที่แปลกคือ มันอาจไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยแท้ๆ แต่อาจเป็นขยะอวกาศประเภทชิ้นส่วนจรวดเก่าๆที่วนรอบดวงอาทิตย์มาหลายปี
(อธิบายรูปประกอบบทความด้านบน โลกคือจุดสีน้ำเงินเล็กๆตรงกลาง ดวงจันทร์คือวงโคจรสีขาว ดาวเคราะห์น้อย 2020 SO คือเส้นยาวสีแดง)
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็เคยมีดาวเคราะห์น้อยที่โคจรเข้ามาแล้วถูกแรงโน้มถ่วงของโลกจับไว้ในลักษณะดวงจันทร์ชั่วคราว อยู่หลายดวงอาทิเช่น 2006 RH120 ในช่วงปี 2549-2550 หรือ ดาวเคราะห์น้อย 2020 CD3 ในช่วงปี 2561 เป็นต้นมา
ดาวเคราะห์น้อย 2020 SO ก็เช่นกัน มันจะเข้ามาในวงโคจรรอบโลก จนกลายเป็น minimoon ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 โดยจะเคลื่อนเข้าเฉียดโลกในระยะใกล้ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม2563 ที่ระยะประมาณ 50,000 กิโลเมตรหรือราว 13% ของระยะห่างโลก-ดวงจันทร์ และครั้งสุดท้ายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ระยะประมาณ 230,000 กิโลเมตรหรือราว 61% ของระยะห่างโลก-ดวงจันทร์
แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น 2020 SO อาจไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยที่เป็นวัตถุธรรมชาติ ด้วยค่าความเร็วในการเดินทางที่ต่ำมาก รวมทั้งลักษณะของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เกือบขนานไปกับวงโคจรโลก ทำให้นักดาราศาสตร์ให้น้ำหนักว่ามันอาจเป็นชิ้นส่วนของจรวดยุคเก่าสมัยทศวรรษที่ 60 และที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ ท่อนบูสเตอร์ของจรวด Surveyor 2 ของสหรัฐฯที่ออกจากโลกเมื่อกันยายน 2509
ที่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้คือขนาดของ 2020 SO ที่คำนวนออกมาว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 6.4 ถึง 14 เมตร สอดคล้องกับขนาดของบูสเตอร์ของจรวด Surveyor 2 ที่ในฐานข้อมูลระบุไว้ว่ายาว 12.68 เมตร
ที่มา https://www.sciencealert.com/earth-might-be-about-to-get-a-temporary-minimoon-but-what-is-it
เรียบเรียงโดย @MrVop