วันนี้ ดาวเคราะห์น้อย 2020 SW จะเคลื่อนเข้าเฉียดโลกในระยะใกล้กว่าวงโคจรดาวเทียมสื่อสาร
ดาวเคราะห์น้อย 2020 SW ขนาดไม่เกิน 9 เมตร จะเข้าเฉียดโลกที่ระยะ 22,000 กิโลเมตร 18:18 วันนี้ตามเวลาในประเทศไทย โดยไม่เข้าชน อย่างไรก็ตาม ระยะนี้เป็นระยะทางที่ใกล้โลกยิ่งกว่าดาวเทียมประเภท Geosat ซึ่งใช้ถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ทุกดวงหรือดาวเทียมทางอุตุนิยมวิทยาทั่วไปจะมีวงโคจรห่างโลกไปถึง 35,888 กิโลเมตร
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เพิ่งถูกค้นพบเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาโดยหอดูดาว Mount Lemmon Survey ในอริโซนา และมีการประกาศยืนยันจากศูนย์Minor Planet Center ในเวลาต่อมา
การเข้าเฉียดโลกด้วยความเร็ว 7.7 กิโลเมตรต่อวินาทีในระยะใกล้เพียง 0.057 ของระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์แบบนี้ จะส่งผลให้วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อย 2020 SW เปลี่ยนแปลงไป นั่นหมายถึงเราต้องคำนวนเส้นทางที่จะเข้าใกล้โลกรอบต่อไปของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ในอนาคตว่าจะเบี่ยงเบนเบนเข้าใกล้โลกกว่านี้หรือไม่
อย่างไรก็ก็ตาม ด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็กของดาวเคราะห์น้อย 2020 SW ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ด้วยตาเปล่าได้ แต่หากท่านสนใจ ท่านสามารถเข้าชมคลิปจากกล้องดูดาวจำลองได้ที่ The Virtual Telescope
เครดิตภาพจากคลิปของศูนย์ Center for Near-Earth Object
เรียบเรียงโดย @MrVop
หมายเหตุ
ยังคงมีสื่อมวลชนบางแห่งที่ใช้คำเรียกวัตถุจำพวกหินอวกาศไม่ถูกต้องว่า “อุกกาบาต” ซึ่งคำนี้จะใช้เรียกหินอวกาศที่ตกลงมาถึงผิวโลกหรือผิวดาวเคราะห์แล้วเท่านั้น หากยังโคจรอยู่ในอวกาศ เราจะเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง หรือสะเก็ดดาว ไม่เรียกว่าอุกกาบาต