NASA เริ่มโครงการ Spaceborne เมื่อสถานีอวกาศจะต้องมีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองไม่ต้องคอยพึ่งพาอาศัยระบบจากภาคพื้นดิน
NASA กำลังจะส่งซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติในเที่ยวบินส่งเสบียงล่าสุดที่กำลังจะออกจากฐานวันนี้ ( 14 ส.ค60)
ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในโครงการนี้เป็นโครงการทดลองระยะ 1 ปี ใช้เครื่อง Spaceborne จาก HPE หรือ ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ ฮาร์ดแวร์ก็ใช้ของ HPE รุ่น Apollo 40 ที่ขายในเชิงพานิชย์ทั่วไปที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Linux แต่เพิ่มระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ และมีไบออสแบบพิเศษที่จะลดความเร็วในการประมวลผลรวมทั้งการใช้ไฟฟ้าลงทันทีที่ตรวจจับได้ว่ากำลังจะมีภาวะเสี่ยงต่อรังสีจากดวงอาทิตย์หรือรังสีคอสมิคจากอวกาศรอบนอก โดยจะมีการบันทึกผลตลอดโครงการว่าขณะที่มีการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ ขณะมี CME หรือขณะมีพายุสุริยะ สภาพการทำงานและการใช้ไฟฟ้ารวมของระบบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์นี้มีผลลัพธ์เป็นอย่างไร จากนั้นเมื่อโครงการจบลงก็จะมีการวิเคราะห์ภาพรวมเพื่อปรับปรุงซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่จะติดตั้งไปบนยานอวกาศในอนาคตอีกครั้ง
ความจำเเป็นที่ต้องส่ง ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ขึ้นไปทดสอบในสถานีอวกาศก็เนื่องจากระยะทางและเวลาที่จะใช้ในการสำรวจอวกาศระยะไกลจากนี้ไปที่ไม่อาจพึ่งพาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์บนภาคพื้นดินได้อีก เนื่องจากมีช่วงเวลาดีเลย์ที่ยาวนานเกินกว่าจะรอได้ เช่นในการเดินทางไปดาวอังคารหากยังใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์บี่พื้นโลกประมวลผล ก็จะต้องรอคอยผลนานหลายสิบนาทีจนอาจไม่ทันเหตุการณ์เฉพาะหน้า
เครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ Spaceborne จะขึ้นไปกับเที่ยวบินเติมเสบียง CRS-12 รวมกับอาหารและวัสดุจำเป็นอื่นน้ำหนักรวม 2.8 ตัน บนยานดรากอนของบริษัท SpaceX ออกจากฐานยิง 39A ด้วยจรวดฟอลคอน-9 เวลา 23:31 วันนี้ (14 ส.ค.60) ตามเวลาไทย
เรียบเรียงโดย @MrVop