วันนี้ (3 ธ.ค.58) ยานอวกาศฮายาบูสะ 2 จะเข้ามาให้โลก “จับเหวี่ยง”
หนึ่งในวิธีการยอดนิยมในเดินทางในอวกาศที่ประหยัดพลังงาน แถมได้ความเร็วตามต้องการ คือการโดนดาวเคราะห์ “จับเหวี่ยง” หรือการทำสลิงช็อตนั่นเอง วิธีการนี้ในระยะหลังจะพบเห็นตามภาพยนต์ไซไฟต่างๆเช่น อินเตอร์สเตลลา ทั้งที่เราใช้กาจับเหวี่ยงมาตั้งแต่ยุคอะพอลโลแล้ว
ยานฮายาบูสะ 2 ขององค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA เป็นโครงการ 6 ปีเพื่อเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยและเดินทางนำตัวอย่างกลับโลก ยานได้ขึ้นสู่อวกาศเมื่อเวลา 11:22 ของวันที่ 4 ธ.ค.57 ตามเวลาในประเทศไทย จากฐานยิง Tanegashima Space Center ในประเทศญี่ปุ่น ออกเดินทางราว 300 ล้านกิโลเมตรสู่เป้าหมาย นั่นคือดาวเคราะห์น้อย 1999 JU3 หรือที่ทางญี่ปุ่นเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย 162173 Ryugu ซึ่งตั้งชื่อตามวังมังกรที่ก้นทะเลในนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น อุระชิมะ ทาโร่ [うらしまたろ] โดยคาดว่าจะไปถึงในเดือนกรกฏาคม ปี 2561
หลังยานฮายาบูสะ 2 ไปถึงดาวเคราะห์น้อย 162173 Ryugu ยานจะโคจรรอบเป้าหมายเพื่อถ่ายภาพ จากนั้นก็จะทำการยิงหัวเจาะและปล่อยยานสำรวจขนาดเล็กลงไปก่อน ขั้นตอนสุดท้ายยานฮายาบูสะ 2จะลงจอดบนผิวดาวเคราะห์น้อยเพื่อเก็บตัวอย่างหินที่เจาะเอาไว้ และติตเครื่องยนต์มุ่งหน้ากลับโลก โดยคาดว่าจะกลับถึงโลกในปี 2563 เพื่อนำตัวอย่างหินที่เก็บได้กลับมาให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการแยกแยะต่อไป
ยานฮายาบูสะ 2 มีขนาดเล็กมาก คือ 2 x 1.6 x 1.25 เมตร ดังนั้นขณะที่เคลื่อนผ่านโลกเราจะมองไม่เห็นยานด้วยตาเปล่า
เรียบเรียงโดย @MrVop