นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์นอกระบบที่มีดวงอาทิตย์มากถึง 3 ดวง

ภาพจำลองให้เห็นดาวเคราะห์นอกระบบ (สีแดงซ้าย) ดวงอาทิตย์ดวงแรกกลางภาพ และอีกสองดวงที่ห่างไกลออกไป Credit: ESO/L. Calçada
ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซนา ใช้เครื่อง SPHERE หรือ Spectro-Polarimetric High-contrast Exoplanet REsearch ในประเทศชิลี ตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบที่มีดวงอาทิตย์มากถึง 3 ดวงเป็นครั้งแรก และได้เผยแพร่การค้นพบครั้งนี้ลงในวารสาร Journal Science ฉบับวันที่ 7 ก.ค. 59 ที่ผ่านมา
การพบดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้ ถือเป็นการพบโดยลักษณะ Directly imaged หมายถึงส่องพบโดยตรงจากเครื่องมือบนผิวโลกไม่ได้ผ่านการค้นพบด้วยยานอวกาศ การส่องหาดาวเคราะห์นอกระบบในลักษณะนี้ใช้ได้ผลดีกับดาวเคราะห์อายุน้อยๆที่เปล่งแสงอินฟราเรดออกมาและมีวงโคจรห่างดวงอาทิตย์ของมันมากพอที่จะไม่โดนแสงกลบหมด
ดาวเคราะห์ดวงที่คนพบล่าสุดนี้ อยู่ในระบบดาว HD 131399 ซึ่งประกอบด้วยดาวฤกษ์ 3 ดวง คือ HD 131399A (ดวงบนในภาพล่าง) และ HD 131399B กับ HD 131399C ซึ่งเป็นดาวฤกษ์แฝด (สองดวงล่างในภาพล่าง) และในเมื่อดาวเคราะห์โคจรรอบ HD 131399A มันจึงได้ชื่อเรียกว่า HD 131399Ab (ใช้อักษรตัวเล็กแทนดาวเคราะห์ และเริ่มนับจาก b เพราะระยะห่่างจากดาวฤกษ์ขนาดนี้ต้องเผื่อว่าจะพบดาวเคราะห์อีกดวงที่อยู่ใกล้กว่า เลยเผื่ออักษร a เล็กไว้)
ดาวเคราะห์ HD 131399Ab โคจรรอบดาวฤกษ์ 1 ดวงในระบบดาว 3 ดวงซึ่งดาวฤกษ์ทั้ง 3 ก็โคจรกันและกัน วงโคจรของมันจึงดูซับซ้อนกว่าปกติทั่วไป
ระบบดาว HD 131399 นี้อยู่ห่างโลกเราออกไป 320 ปีแสงในทิศทางกลุ่มดาวเซ็นทอร์ที่พิกัด ไรต์แอสเซนชัน (α) 14h 54m 25.0 และเดคลิเนชัน −34° 08′ 34″ มีความสว่างปรากฏราวแมกนิจูด 7.07
ดาวเคราะห์ HD 131399Ab เป็นดาวเคราะห์ อายุน้อย คือมีอายุแค่ 16 ล้านปี (โลกเรามีอายุมากกว่า 4 พัน 5 ร้อยล้านปีแล้ว) มีมวลราว 4-5 เท่าของดาวพฤหัส มีอุณหภูมิพื้นผิวดาวอยู่ที่ 580°C
ถือเป็นความสำเร็จหน้าใหม่ในการสำรวจดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลจากระบบสุริยะของเรา
เรียบเรียงโดย @MrVop