นักบรรพชีวินวิทยาตื่นเต้นที่พบซากลูกนกราว 100 ล้านปีมีสภาพสมบูรณ์เกือบครบทั้งตัวในก้อนอำพันโบราณ ถือเป็นเรื่องดีที่จะได้ศึกษาความแตกต่างของนกในทุกวันนี้เปรียบเทียบกับบรรพบุรุษของมัน
ก้อนอำพันดังกล่าวซึ่งมีอายุยืนยาวมาตั้งแตช่วงกลางยุคครีเตเชียส (mid-Cretaceous) ถูกพบในเหมืองอำพันฮูกอง (Hukawng) ในรัฐกะฉิ่น (Kachin) ทางตอนเหนือสุดของพม่า และถูกขายต่อให้พิพิธภัณฑ์ในประเทศจีนเมื่อปี 2014 เหมืองอำพันแห่งนี้เคยมีข่าวการพบซากสมบูรณ์ของผึ้งโบราณเมื่อปลายปี 2549 ด้วย
หลังจากถูกนำเข้าเครื่องสแกนแบบ micro-CT scanning นักวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นซากตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกมาจากไข่ของนกดึกดำบรรพ์ในกลุ่ม Enantiornithes ซึ่งยังคงมีความแตกต่างมากมายกับนกในยุคปัจจุบัน ขนของมันเป็นแบบคอนทัวร์ (contour feathers) คือเป็นขนแข็งเรียงเป็นระเบียบเหมือนขนที่ใช้สำหรับบิน ไม่ใช่ขนนกแบบ นาทอลดาวน์ (natal down) หรือขนสั้นนุ่มเหมือนขนด้านในของเป็ด ลักษณะของใยขนเมื่อพิจารณาดีๆ ยังคล้ายกับขนตัวอ่อนของไดโนเสาร์เทอโรพอดซึ่งเป็นไดโนเสาร์ในกลุ่มที่กินเนื้อและล่าเหยื่อเป็นอาหาร
ซากลูกนกโบราณตัวนี้มีฟันเต็มปาก แต่ปากไม่เป็นแบบบจะงอย ซึ่งต่างจากปากของนกในทุกวันนี้ แถมยังพบว่ามันมีใบหู และยังมีกรงเล็บที่ปีกอีกด้วย อำพันซึ่งก็คือยางไม้โบราณยังเก็บรักษาลักษณะผิวหนังไปจนถึงเม็ดสี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะใช้ศึกษาอย่างละเอียดต่อไป แม้นกในกลุ่มนี้จากหายไปจากโลกหมดแล้วหลังเหตุการณ์สูญพันธุ์เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้วพร้อมไดโนเสาร์ก็ตาม
การค้นพบครั้งนี้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Gondwana Research.
เครดิตภาพจากเว็บต้นฉบับรวมถึงเนชันแนลจีโอกราฟฟิค
เรียบเรียงโดย @MrVop