FRB หรือ Fast Radio Burst (การพุ่งขึ้นของสัญญาณวิทยุความเข้มสูง) คืออะไร ว่ากันตรงๆทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังเข้าใจมันไม่ถ่องแท้
อธิบายง่ายๆ มันเป็นสัญญาณคลื่นวิทยุที่มาจากนอกกาแล็กซีของเรา มีความเข้มสัญญาณสูง เกิดขึ้นในช่วงเวลาช่วงสั้นๆในระดับมิลลิวินาที แล้วจะหายไปเฉยๆ ตรวจจับไม่เจออีก
โลกเราเพิ่งจะสามารถค้นพบ FRB ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2001 นี้เอง หลังจากนั้นก็พบมาเรื่อยๆ แต่ไม่ถี่มาก คือหลังจากพบครั้งแรกในปี 2001 ในปีเดียวกันก็พบอีก 2 ครั้ง แล้วหายไปนานจนถึงปี 2009 จึงตรวจพบอีกครั้ง
นานๆเจอที ในวันเดียวพบครั้งเดียว ทางนักดาราศาสตร์เลยตั้งชื่อสัญญาณวิทยุลึกลับนี้ตามวันที่รับสัญญาณได้ เช่น FRB 010621 ก็แปลว่า เป็น FRB ที่รับสัญญาณได้วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2001 นั้นเอง (เรียงปีเดือนวัน 01 คือปี 2001 06 คือเดือนมิถุนา 21 คือวันที่)
ปี 2011 พบ 4 ครั้ง พอมาปี 2012 ก็แตกตื่นกันกัน ปีนี้พบ 4 ครั้ง แต่ครั้งสุดท้ายพิเศษมาก คือมันเกิดซ้ำจากจุดเดิมอีกกว่า 200 ครั้ง
FRB พิเศษของปี 2012 นี้ ตั้งชื่อว่า “FRB121102” เพราะรับสัญญาณได้จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่เปโตริโก้ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 2012 สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นก็คือ แหล่งกำเนิดคลื่นนี้ นับตั้งแต่วันที่พบ มันมีการแผ่คลื่นซ้ำๆอีกแล้วรวมกว่า 200 ครั้ง คือไม่เหมือนจุดอื่นที่เจอมา
แล้วก็กลับมาเป็นปกติ
ปี 2013 พบ 4 ครั้ง
ปี 2014 พบ 1 ครั้ง
ปี 2015 พบ 7 ครั้ง ชักเยอะ
ปี 2016 พบ 4 ครั้ง
ปีที่แล้ว 2017 พบ 5 ครั้ง
รวมแล้ว 16 ปี 33 ครั้ง เฉลี่ยแล้วปีละ 2 ครั้ง
แต่ปีนี้ 2018 ปีเดียว นักดาราศาสตร์พบสัญญษณ FRB ถึง 20 ครั้ง !!!!
คำว่า “ครั้ง” ที่นับในบทความนี้ หมายถึงตำแหน่งบนฟ้าที่เรารับสัญญาณได้ นั่นคือสัญญาณจะมาจากตำแหน่งเดียวใน 1 ครั้งแล้วหายไปเลย ยกเว้น FRB121102 ที่มาจากตำแหน่งพิกัด ไรต์แอสเซนชัน 05h 32mเดคลิเนชัน +33° 05′ ที่เกิดสัญญาณซ้ำๆกว่า 200 ครั้ง
แต่ในปีนี้ปีเดียว เราตรวจพบFRB หรือ Fast Radio Burst (การพุ่งขึ้นของสัญญาณวิทยุความเข้มสูง) จากท้องฟ้าได้ถึง 20 ครั้งคือ 20 ตำแหน่งที่แตกต่างกัน
และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ASKAP ดอกเตอร์ไรอัน แชนนอน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Swinburne ยืนยันว่า ต้นกำเนิดของการพุ่งขึ้นของสัญญาณวิทยุความเข้มสูงหรือ FRB นั้นอยู่ห่างจากโลกเราออกไปไกลมาระดับหลายพันล้านปีแสง คือมาจากอวกาศห้วงลึกไม่ใช่แถวๆกาแล็กซีทางช้างเผือกอย่างแน่นอน
การพบแหล่งที่มาแตกต่างกันถึง 20 แหล่งในปีเดียวเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะอาจทำให้เรารู้มากขึ้นว่าอะไรกันแน่ที่ “ผลิต” เจ้าสัญญาณวิทยุความเข้มสูงนี้ขึ้นมา ง
สิ่งที่ทีมของดอกเตอร์ไรอันจะทำต่อจากนี้คือหาพิกัดแบบละเอียดของแหล่งที่มาของสัญญาณวิทยุปริศนาเหล่านี้ เห็นว่าจะหาให้ได้ละเอียดระดับ 1 ใน 1000 ขององศาฟ้า ที่ต้องทำแบบนี้เพราะมันเกิดไกลมาก พิกัดเพี้ยนนิดเดียวปลายทางจะห่างกันลิบ
ความละเอียดระดับที่ต้องหาพิกัดนี้ ทางทีมของดอกเตอร์ไรอันบอกว่า ไม่ต่างจากมองเส้นผมมนุษย์จากระยะ 10 เมตรด้วยตาเปล่าเลยทีเดียว
ก็ขอเอาใจช่วยให้พบค้นกำเนิดสัญญาณวิทยุลึกลับนี้ไวๆ
ที่มา sci-news.com
เรียบเรียงโดย @MrVop