กลางเดือนธันวานี้ นักวิทยาศาสตร์เตรียมศึกษาดาวเคราะห์น้อย “ฟาเอธอน” ในโอกาสที่เข้าใกล้โลกที่สุดตั้งแต่ค้นพบมาในปี 1983
ดาวเคราะห์น้อย 3200 ฟาเอธอน จะเข้าใกล้โลกที่สุดที่ระยะ 0.0689 AU ในวันที่ 16 ธ.ค.60 นี้ และตาม ผลวิจัย โดย Galina Ryabova และ Jurgen Rendtel ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Monthly Notices (PDF) นั้น ระบุว่าโมเดลคณิตศาสตร์แสดงผลว่าการเข้าใกล้โลกครั้งนี้ของฟาเอธอน ส่งผลให้จำนวนดวงต่อชั่วโมงของฝนดาวตกเจมินิดส์เพิ่มจำนวนขึ้นสูงสุดกว่าปีใดๆที่ผ่านมา อาจถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง
การเข้าใกล้โลกของ 3200 ฟาเอธอน ที่ระยะ 10.3 ล้านกิโลเมตรในปีนี้ ถือเป็นระยะใกล้โลกที่สุดในรอบ 34 ปี ตั้งแต่ค้นพบดาวเคราะห์น้อยประหลาดวงนี้ในปี ค.ศ.1983 ที่ว่าประหลาดก็เพราะฟาเอธอนปล่อยธารสะเก็ดดาวออกมาแบบเดียวกับดาวหางแต่มันไม่มีหัวที่ลุกสว่างแบบดาวหาง ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดว่า ฟาเอธอน น่าจะเคยเป็นดาวหางมาก่อนในอดีต แต่เวลานี้ถือเป็นดาวหางที่หมดอายุไปแล้ว ดังนั้น ขณะที่ประชาชนทั่วโลกต่างตื่นเต้นที่จะได้ชมฝนดาวตก ทางนักวิทยาศาสตร์ก็ตื่นเต้นที่จะได้ส่องกล้องศึกษาต้นกำเนิดฝนดาวตกนั่นก็คือดาวเคราะห์น้อย 3200 ฟาเอธอนนั่นเอง
จำนวนดวงต่อชั่วโมงของฝนดาวตกเจมินิดส์ จะเพิ่มถึงจุดสูงสุดเวลา 13:30 ของวันที่ 14 ธ.ค.60 ตามเวลาไทย ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเวลากลางวัน ถือเป็นโชคของประเทศฝั่งอเมริกาแต่ทางไทยเราก็ยังคงสังเกตฝนดาวตกได้ในจำนวนมากกว่าวันใดๆของปีนี้ในช่วงคืนวันที่ 13 ธ.ค.จนถึงวันที่ เช้าตรู่ของวันที่ 15 ธ.ค. และปีนี้แสงจันทร์ส่งผลรบกวนไม่มากหลังตีสาม ถือเป็นโอกาสดีที่จะออกไปหาที่นอนชมฝนดาวตกตามชนบทที่ไร้แสงเมืองรบกวน
เรียบเรียงโดย @MrVop